ข้อมูลบทความ
ปี 2019 ปีที่ 69 ฉบับที่ 1 หน้า 70-82
Title:
ผลของการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในโรงเรียนประถมศึกษา และ พฤติกรรมทันตสุขภาพต่อการเกิดโรคฟันผุของเด็กอายุ 12 และ 15 ปี
Keyword(s):
การเพิ่มขึ้นของฟันผุ, กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากในโรงเรียน, พฤติกรรมทันตสุขภาพ
Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาวะโรคฟันผุในเด็กอายุ 8 ปี 12 ปี และ 15 ปี และผลของกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่อง
ปากในโรงเรียน ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมทันตสุขภาพของเด็ก ต่อการเพิ่มขึ้นของฟันผุในช่วงอายุ 8-12 ปี และ 12-15 ปี เป็นการ
ศึกษาระยะยาวในเด็กอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จำนวน 704 คน ที่อายุ 8 ปี 12 ปี และ 15 ปี ตามลำดับ เด็กได้รับการตรวจสุขภาพ
ช่องปาก ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาวะสุขภาพช่องปากและพฤติกรรมทันตสุขภาพ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และ
วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของฟันผุด้วยสถิติการถดถอยโลจิสติก ผลการศึกษาพบว่า เด็กอายุ 8 ปี มีฟันผุร้อยละ 72.4 และผุเพิ่ม
ขึ้นเป็นร้อยละ 92.5 และ 97.1 เมื่อเด็กอายุ 12 ปี และ 15 ปี โดยมีค่าเฉลี่ยฟันผุถอนอุด 8 ปี 12 ปี และ 15 ปี เท่ากับ 1.7±1.5, 5.0±3.5
และ 8.4±4.5 ซี่ต่อคน ตามลำดับ การเพิ่มขึ้นของฟันผุในช่วงอายุ 8-12 ปี เท่ากับ 7.2±6.5 ด้านต่อคน และเพิ่มขึ้นเป็น 8.6±6.4 ด้าน
ต่อคน ในช่วงอายุ 12-15 ปี เด็กมากกว่าร้อยละ 60 ได้รับการเคลือบหลุมร่องฟัน มีเพียงส่วนน้อยที่มีระบบการแปรงฟันที่โรงเรียน โดย
การแปรงฟันพร้อมกันทั้งชั้นเรียน เปิดเพลงขณะแปรงฟัน และมีครูหรือผู้นำนักเรียนดูแลขณะแปรงฟันและตรวจความสะอาดหลังการ
แปรงฟัน ผลการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติก พบปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของฟันผุในช่วงอายุ 8-12 ปี ได้แก่ การไม่ได้รับการ
เคลือบหลุมร่องฟัน (ORadj = 1.517, 95%CI = 1.052-2.187) และปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของฟันผุในช่วงอายุ 12-15 ปี ได้แก่ การ
มีฟันไม่สะอาด (ORadj = 2.002, 95%CI = 1.296-3.093) และการไม่ได้รับการเคลือบหลุมร่องฟัน (ORadj = 1.888, 95%CI = 1.217-2.930)
การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า เด็กในอำเภอเทพามีความชุก ความรุนแรง และการเพิ่มขึ้นของฟันผุอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมากและเพิ่มขึ้นตามอายุ
การส่งเสริมให้เด็กมีฟันสะอาด และได้รับการเคลือบหลุมร่องฟัน มีผลช่วยลดการเพิ่มขึ้นของฟันผุในเด็กได้