ข้อมูลบทความ
ปี 2021 ปีที่ 71 ฉบับที่ 2 หน้า 127-134
Title:
การแสดงออกของซีฟอสในไทรเจมินัลนิวเคลียสและน้ำหนักของหนูทดลองภายหลังเนื้อเยื่อในฟันกรามอักเสบ
Author(s):
อานนท์ชัย จันทร์สุนทรภาส,
อุไรวรรณ โชคชนะชัยสกุล
Keyword(s):
น้ำหนัก, ซีฟอส, เนื้อเยื่อในฟันอักเสบ, ไทรเจมินัลนิวเคลียส
Abstract:
การแสดงออกของซีฟอสที่พบได้ในนิวเคลียสของเซลล์ประสาทเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเจ็บปวดภายหลังกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าที่เป็นอันตรายหลายชนิด และถูกใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ความเจ็บปวด ในกรณีที่ได้รับการบาดเจ็บที่ฟันยังมีวิธีวัดความเจ็บปวดในสัตว์ทดลองโดยใช้การลดลงของน้ำหนัก ซึ่งเป็นการวัดความเจ็บปวดทางอ้อมจากการพฤติกรรมทานอาหารที่เปลี่ยนแปลงจากความเจ็บปวด วัตถุประสงค์การศึกษาคือเพื่อศึกษาน้ำหนักของหนูทดลองที่เปลี่ยนแปลงร่วมกับการแสดงออกของซีฟอส หนูทดลองเพศผู้ถูกนำมาเลี้ยงและวัดน้ำหนักเป็นเวลา 1 สัปดาห์ แบ่งหนูทดลองออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มควบคุม และกลุ่มทดลอง นำหนูทดลองกลุ่มควบคุมมากรอฟันกรามล่างซ้ายลึก 0.5 มม. ขณะที่กลุ่มทดลองกรอฟันลึกจนทะลุโพรงประสาทฟันและเลี้ยงต่อเพื่อชั่งน้ำหนักอีก 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นนำหนูมาการุณยฆาตเพื่อเก็บชิ้นเนื้อสมองและฟัน นับจำนวนเซลล์ประสาทที่มี c-Fos แสดงออกในบริเวณสมองด้านเดียวกันและฝั่งตรงข้ามด้วยวิธีอิมมูโนฮิสโตเคมี และวิเคราะห์ความแตกต่างของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นก่อนและหลังการทดลองด้วยสถิติเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยระหว่างกลุ่มตัวอย่างที่เป็นอิสระจากกัน ส่วนเนื้อเยื่อในฟันที่อักเสบวิเคราะห์ด้วยผลทางจุลพยาธิวิทยา จากผลการทดลองพบว่า กลุ่มทดลองมีจำนวนเซลล์ประสาทที่มีฟอสแสดงออกในสมองข้างเดียวกันมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ หนูทดลองทุกกลุ่มมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นหลังการทดลองช้าลงกว่าก่อนการทดลอง และความแตกต่างของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นก่อนและหลังการทดลองของกลุ่มทดลอง มีค่าน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลทางจุลพยาธิวิทยาของฟันกรามล่างซ้ายซี่ที่ 1 ในกลุ่มควบคุมพบ ลักษณะของเนื้อเยื่อในฟันที่ปกติ ในขณะที่กลุ่มทดลองพบ การตายของเนื้อเยื่อในฟัน มีการขยายตัวของหลอดเลือด และมีการแทรกซึมของเซลล์อักเสบเรื้อรัง ดังนั้นน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นวิธีที่ง่ายต่อการวัดและสามารถใช้เป็นวิธีวัดความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากฟันทางอ้อมได้ รวมถึงวิธีการทดลองนี้ยังมีประโยชน์ต่อการใช้ประเมินความเจ็บปวดในสัตว์ทดลองอีกด้วย