ข้อมูลบทความ
ปี 2016 ปีที่ 66 ฉบับที่ 4 หน้า 344-356
Title:
ผลของสารยึดติดต่างชนิดต่อค่ากำลังแรงยึดระหว่างเซรามิกกับเรซินคอมโพสิต
Keyword(s):
กำลังแรงยึดเฉือน, เฟลด์สปาทิกพอร์ซเลน, เรซินคอมโพสิต, สารยึดติด, สารไซเลน
Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาค่ากำลังแรงยึดเฉือนระหว่างเฟลด์สปาทิกพอร์ซเลนกับเรซินคอมโพสิต เมื่อใช้สารยึดติดที่มีสารไซเลนแบบรวมขวด และสารยึดติดร่วมกับสารไซเลนแบบแยกขวด โดยใช้สารยึดติด 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่แอดเปอร์สก็อตบอนด์มัลติเพอร์เพิส (Adper Scotchbond Multipurpose, SM) แอดเปอร์ซิงเกิลบอนด์ทู (Adper Single Bond2, SB) ซิงเกิลบอนด์ยูนิเวอร์ซอล (Single Bond Universal, SU) และสารไซเลน 1 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ รีไลเอ็กย์เซรามิกไพรเมอร์ (RelyX Ceramic Primer, Silane) นำแผ่นเฟลด์สปาทิกพอร์ซเลนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร หนา 4 มิลลิเมตร ฝังลงในท่อพีวีซีด้วยยิปซัมทางทันตกรรม จากนั้นนำชิ้นงานไปขัดผิวหน้าด้วยกระดาษ ซิลิกอนคาร์ไบด์ที่ระดับความหยาบ 400 และ 600 กริท ตามลำดับ แบ่งกลุ่มของชิ้นงานออกเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ชิ้น ตามการปรับสภาพผิวหน้าของเฟลด์สปาทิกพอร์ซเลน ได้แก่ กลุ่มที่ 1 Silane-SM กลุ่มที่ 2 SM กลุ่มที่ 3 Silane-SB กลุ่มที่ 4 SB กลุ่มที่ 5 Silane-SU กลุ่มที่ 6 SU ใช้แม่แบบซิลิโคนที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 มิลลิเมตร ลึก 2 มิลลิเมตร วางบนผิวหน้าของชิ้นงานที่ผ่านการปรับสภาพแล้ว จากนั้นนำเรซินคอมโพสิตบรรจุลงในแม่แบบและอัดให้แน่น ฉายแสงเป็นเวลา 40 วินาที ด้วยเครื่องฉายแสงที่ความเข้มแสง 1000 มิลลิวัตต์ต่อตารางเซนติเมตร นำชิ้นงานแช่ในน้ำกลั่นแล้ว เก็บในตู้ควบคุมอุณหภูมิ ที่ 37 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นนำ ชิ้นงานไปหาค่า กำลังแรงยึดเฉือนด้วยเครื่องทดสอบแรงสากลที่ความเร็วหัวกดเท่ากับ 0.5 มิลลิเมตรต่อนาที นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ทางสถิติโดยใช้ความแปรปรวนทางเดียว และเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่ม ด้วยการเปรียบเทียบเชิงซ้อนชนิดทูกีย์ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ผลการศึกษาพบว่า กำลังแรงยึดเฉือนของกลุ่มที่ 1 ถึงกลุ่มที่ 6 คือ 23.41±4.16 12.66±0.91 20.92±4.03 10.80±1.43 32.00±1.87 และ 12.01±1.18 เมกะพาสคาล ตามลำดับ โดยกำลังแรงยึดเฉือนกลุ่มที่ 1 กลุ่มที่ 3 และกลุ่มที่ 5 มีค่าสูงกว่ากลุ่มที่ 2 กลุ่มที่ 4 และกลุ่มที่ 6 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) โดยกลุ่มที่ 5 มีกำลังแรงยึดเฉือนสูงที่สุด ซึ่งสูงกว่ากลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 3 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) จึงสรุปได้ว่า การใช้สารไซเลนทาก่อนทาสารยึดติด จะให้ค่ากำลังแรงยึดระหว่างเฟลด์สปาทิกพอร์ซเลนและเรซินคอมโพสิตที่สูงกว่าการใช้สารยึดติดเพียงอย่างเดียว