ข้อมูลบทความ
ปี 2018 ปีที่ 68 ฉบับที่ 4 หน้า 346-359
Title:
การใช้วิธีดิสแทรคชันออสติโอเจเนสิสในการเคลื่อนกระดูกขากรรไกรบนล่างไปพร้อมกันเพื่อแก้ไขความไม่สมมาตรในผู้ป่วยเฮมิเฟเชียลไมโครโซเมีย ด้วยการใช้อุปกรณ์ยืดกระดูกหลายชิ้น
Keyword(s):
การสร้างกระดูกด้วยวิธีดิสแทรคชันออสติโอเจเนสิส, เฮมิเฟเชียลไมโครโซเมีย, เครื่องมือยืดกระดูกชนิดในปาก
Abstract:
ผู้ป่วยเฮมิเฟเชียลไมโครโซเมียมีลักษณะของใบหน้าที่ไม่สมมาตรโดยมีใบหน้าด้านหนึ่งเล็กกว่าอีกด้านหนึ่งซึ่งระดับความรุนแรง
ของโรคมีความแตกต่างกันตั้งแต่น้อยไปจนถึงมาก การผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติดังกล่าวค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน และก่อให้เกิดภาวะ
แทรกซ้อนค่อนข้างมาก ดิสแทรคชันออสติโอเจเนสิสเป็นเทคนิคในการสร้างกระดูกใหม่ เป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยากและมีผลข้างเคียงน้อย ได้มี
การดัดแปลงวิธีการดังกล่าวนี้ในการรักษาผู้ป่วยเฮมิเฟเชียลไมโครโซเมีย เพื่อทำให้ระนาบการสบฟันและใบหน้ามีความสมมาตรใกล้เคียง
ปกติ การศึกษาฉบับนี้ได้ทำการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องและนำเสนอรายงานผู้ป่วย 2 ราย ซึ่งจากลักษณะทางคลินิกและภาพถ่าย
รังสีกะโหลกศีรษะให้การวินิจฉัยว่าเป็น เฮมิเฟเชียลไมโครโซเมีย การรักษาทำโดยการผ่าตัดเลอฟอร์ทวันมาตรฐานแต่ไม่ได้ทำการตัดผนัง
กั้นช่องจมูกและตัดกระดูกขากรรไกรบนส่วนตั้งด้านที่สูงออก ติดเครื่องมือยืดกระดูก 2 ตำแหน่ง ซ้ายและขวา โดยตัวหนึ่งทำหน้าที่ใน
การยืดกระดูก อีกตัวหนึ่งทำหน้าที่ดึงกระดูกเข้าหากัน โดยมีผนังกั้นช่องจมูกเป็นจุดหมุน ในขากรรไกรล่างทำการผ่าตัดฮอริซอลทอลเรมัส
ออสติโอโตมีในด้านที่สั้นและติดเครื่องมือยืดกระดูกในแนวตั้ง ส่วนอีกด้านทำการผ่าตัดเวอติคอลเรมัสออสติโอโตมี หลังจากนั้นทำการมัด
ฟันบนและล่างเข้าด้วยกันด้วยลวด หลังผ่าตัดทำการกระตุ้นเครื่องมือทั้งหมด ซึ่งจะทำให้เกิดการหมุนของระนาบสบฟันของขากรรไกร
บนและล่างไปในทิศทางที่กำหนดพร้อมกับมีการสร้างกระดูกใหม่ในช่องว่างที่เกิดขึ้น จากผลดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยมีระนาบสบฟันที่ดีขึ้น
และใบหน้าสมมาตรขึ้น การตรวจหลังจากการผ่าตัดพบว่าการสบฟันยังคงอยู่ในสภาวะเสถียรและไม่มีการคืนกลับของการรักษา การ
ศึกษาพบว่าการรักษาเฮมิเฟเชียลไมโครโซเมียด้วยการเคลื่อนกระดูกขากรรไกรบนล่างไปพร้อมกันด้วยเครื่องมือยืดกระดูกหลายชิ้นให้ผล
การรักษาที่ดี ทั้งในเรื่องของระยะเวลาในการรักษาและประสิทธิภาพในการเคลื่อนชิ้นกระดูกขากรรไกร สามารถพยากรณ์ทิศทางการ
เคลื่อนที่ของกระดูกและที่สำคัญที่สุดคือสามารถหลีกเลี่ยงการผ่าตัดที่อาจก่อให้เกิดสภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้