ข้อมูลบทความ
ปี 2019 ปีที่ 69 ฉบับที่ 1 หน้า 29-37
Title:
การศึกษาตำแหน่ง ลักษณะของตัวฟันและรากฟันของฟันกรามแท้ล่างซี่ที่สองเอียงไกลกลางและฟันกรามแท้ล่างซี่ที่หนึ่งอยู่ติดกันด้วยภาพรังสีแพโนรามา
Keyword(s):
ฟันกรามแท้ล่างซี่ที่สอง, ฟันกรามแท้ล่างซี่ที่หนึ่ง, เอียงไกลกลาง, พื้นที่ระหว่างรากฟัน, ความโค้งรากฟัน, รากฟันชิดเกิน
Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกและตำแหน่งการเกิดรากฟันชิดเกินระหว่างฟันกรามแท้ล่างซี่ที่สองเอียงไกลกลาง (7D) และฟันกรามแท้ล่างซี่ที่หนึ่งที่อยู่ติดกัน (6D) ศึกษามุมเอียงด้านสบฟัน ความโค้งรากฟันของฟัน 7D,6D เปรียบเทียบกับฟันซี่เดียวกันในขากรรไกรด้านตรงข้าม (7N,6N ตามลำดับ) และเปรียบเทียบพื้นที่ระหว่างรากฟัน7D:6D กับ7N:6N หาความสัมพันธ์ของมุมเอียงด้านสบฟันกับความโค้งรากฟันตำแหน่งต่างๆ ในฟัน7D โดยศึกษาจากภาพรังสีแพโนรามาชนิดดิจิตอลจำนวน 70 ภาพ และใช้โปรแกรมอิมเมจเจวัดมุมเอียงด้านสบฟัน ความโค้งรากฟันที่ตำแหน่งกลางรากฟัน ปลายรากฟันของรากฟันใกล้กลาง ไกลกลาง และวัดพื้นที่ระหว่างรากฟัน 7D:6D,7N:6N ใช้สถิติ Paired t-test และ Pearson’s correlation เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างด้าน และหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตามลำดับ ผลการศึกษาพบรากฟันชิดเกิน 62 จาก 70 ราย (88.57 %) พบมีความแตกต่างอย่างนัยสำคัญสถิติระดับ 0.05 ของมุมเอียงด้านสบฟันระหว่างฟัน 7D กับ 7N (ค่าเฉลี่ยความแตกต่าง = 13.50 องศา) เช่นเดียวกับระหว่างฟัน 6D กับ 6N (ค่าเฉลี่ยความแตกต่าง = 1.61 องศา) ในฟัน 7D พบส่วนปลายรากฟันทั้งสองรากโค้งงอไปด้านไกลกลาง (P<0.05) ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างมุมเอียงด้านสบฟันและความโค้งรากฟันในฟัน 7D
            กล่าวโดยสรุป ผลการศึกษาฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่าเมื่อฟันกรามแท้ล่างซี่ที่สองมีตำแหน่งเอียงไกลกลาง อาจคาดได้ว่าจะพบรากฟันกรามแท้ล่างซี่ที่สองโค้งงอไปด้านไกลกลาง  พบมุมเอียงด้านสบฟันของฟันกรามแท้ล่างซี่ที่หนึ่งและสองเปลี่ยนไปจากเดิมและพบรากฟันชิดเกินระหว่างฟันทั้งสองซี่  การให้การวินิจฉัยและการรักษาเมื่อตรวจพบในระยะแรก  อาจมีประโยชน์ในการป้องกันการเกิดรากฟันโค้งงอและปัญหารากฟันชิดเกิน