ข้อมูลบทความ
ปี 2019 ปีที่ 69 ฉบับที่ 3 หน้า 291-302
Title:
ผลของสารสกัดลูกเดือยต่อเซลล์สร้างกระดูกปฐมภูมิของมนุษย์: ความเป็นพิษต่อเซลล์และการพอกพูนของแคลเซียมในหลอดทดลอง
Keyword(s):
การพอกพูนของแคลเซียมในหลอดทดลอง, ความเป็นพิษต่อเซลล์, เซลล์สร้างกระดูกปฐมภูมิของมนุษย์, สารสกัดลูกเดือย
Abstract:
โรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญปัญหาหนึ่งของโลก ซึ่งโรคนี้มีผลทำให้มวลกระดูกลดลงและทำให้โครงสร้าง
จุลภาคภายในกระดูกมีการเสื่อมสลายลง ส่งผลให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง รวมถึงส่งผลต่อกระบวนการออสซิโออินทิเกรชันใน
ผู้ป่วยที่ต้องการทำรากเทียม หลายปีที่ผ่านมามีการศึกษาจำนวนมากเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติเพื่อหวังผลในการป้องกันโรคกระดูกพรุน
และส่งเสริมกระบวนการสร้างกระดูก มีรายงานว่าสารสกัดลูกเดือยมีคุณสมบัติในการเพิ่มจำนวนเซลล์ สามารถกระตุ้นการทำงานของ
อัลคาไลน์ฟอสฟาเตส ระดับแคลเซียมและความหนาแน่นของกระดูกหนู อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาใดที่ทำการทดสอบผลของ
สารสกัดลูกเดือยต่อเซลล์สร้างกระดูกปฐมภูมิของมนุษย์ ดังนั้นในการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลของสารสกัดลูกเดือยต่อความ
เป็นพิษต่อเซลล์และการพอกพูนของแคลเซียมในหลอดทดลองของเซลล์สร้างกระดูกปฐมภูมิของมนุษย์ โดยประเมินความเป็นพิษต่อเซลล์
ด้วยวิธีเอ็มทีทีที่ประกอบด้วยสารสกัดลูกเดือยที่ความเข้มข้น 3 15 30 150 300 และ 600 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ในอาหารเลี้ยงเซลล์ที่มี
ซีรัมที่ได้จากลูกอ่อนวัวร้อยละ 2 และ 15 ที่เวลา 24 48 และ 72 ชั่วโมง และประเมินผลของสารสกัดลูกเดือยที่ความเข้มข้นต่าง ๆ ต่อ
การพอกพูนของแคลเซียมในหลอดทดลองด้วยการย้อมอะลิซารินเรดในอาหารเลี้ยงเซลล์ที่ประกอบด้วยซีรัมที่ได้จากลูกอ่อนวัวร้อยละ
15 ที่เวลา 14 และ 21 วัน ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดลูกเดือยที่ความเข้มข้น 3-600 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์
สร้างกระดูกมนุษย์ รวมถึงสารสกัดลูกเดือยที่ความเข้มข้น 150 300 และ 600 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ส่งเสริมการเพิ่มจำนวนของเซลล์
สร้างกระดูกมนุษย์เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใส่สารสกัดลูกเดือยที่เวลา 72 ชั่วโมง ทั้งในอาหารเลี้ยงเซลล์ที่มีซีรั่มได้จากลูกอ่อนวัว
ร้อยละ 2 และ 15 นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดลูกเดือยที่ความเข้มข้น 3-600 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สนันสนุนการพอกพูนของแคลเซียม
ในหลอดทดลอง ผลที่ได้จากการศึกษานี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นก่อนที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการปรับเตรียมพื้นผิวไททาเนียมสำหรับรากเทียม
ทางทันตกรรมเพื่อนำไปใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกพรุนต่อไปในอนาคต