ข้อมูลบทความ
ปี 2019 ปีที่ 69 ฉบับที่ 4 หน้า 475-482
Title:
ผลของลำดับการสแกนและสภาวะไร้ฟันบางส่วนต่อความแม่นยำบริเวณฟันหลังของการพิมพ์ปากดิจิตอลแบบเต็มส่วนโค้งขากรรไกร
Keyword(s):
การพิมพ์ปากแบบดิจิทัล, เครื่องสแกนในช่องปาก, ความแม่นยำ, ลำดับการสแกน, สภาวะไร้ฟันบางส่วน
Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความแม่นยำของการสแกนแบบเต็มส่วนโค้งขากรรไกรโดยวิเคราะห์เฉพาะฟันหลัง
บนแบบจำลองที่มีฟันครบและแบบจำลองไร้ฟันกรามน้อยบนขวาซี่ที่สองและฟันกรามบนขวาซี่ที่หนึ่งด้วยเครื่องสแกนในช่องปากระบบ
ทรีออสและทรีเอ็มทรูเดฟฟินิชั่นโดยลำดับการสแกนที่ต่างกัน 2 ลักษณะ คือ สแกนจากขวามาซ้ายและอีกกลุ่มสแกนย้อนกลับ รูปแบบละ
10 ครั้ง ตัดภาพสแกนให้เหลือเฉพาะฟันกรามน้อยบนขวาซี่ที่หนึ่งจนถึงฟันกรามบนขวาซี่ที่สอง วัดความเที่ยงโดยซ้อนภาพสแกนใน
กลุ่มเดียวกัน และวัดความตรงโดยซ้อนกับภาพอ้างอิง ดูความคลาดเคลื่อนด้วยโปรแกรมจีโอเมจิกควอลิฟาย 2013 วิเคราะห์ความเที่ยง
ด้วยสถิติครัสคาล-วัลลิสที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่ม วิเคราะห์ความตรงด้วยสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวน
แบบ 3 ทาง พบว่า ทรีออสมีความคลาดเคลื่อนเฉลี่ย 12.86 ± 3.81 ไมโครเมตร ต่ำกว่าทรีเอ็มทรูเดฟฟินิชั่นซึ่งมีค่าเฉลี่ย 15.03 ± 4.17
ไมโครเมตร (p=0.013) ทรีออสซึ่งสแกนในแบบจำลองที่มีฟันครบมีค่า 14.71 ± 3.91 ไมโครเมตร สูงกว่าแบบจำลองที่มีฟันหายไปบาง
ส่วนซึ่งมีค่า 11.01 ± 2.71 ไมโครเมตร (p=0.003) สำหรับลำดับการสแกนไม่พบความแตกต่างของความคลาดเคลื่อน จึงสรุปได้ว่า ลำดับ
การสแกน เครื่องสแกนทั้งสองระบบและสภาวะไร้ฟันไม่มีผลต่อความเที่ยง ทรีออสให้ค่าความตรงสูงกว่าทรีเอ็มทรูเดฟฟินิชั่น ทรีออสที่
สแกนในแบบจำลองที่มีฟันหายไปบางส่วนให้ค่าความตรงสูงกว่าแบบจำลองที่มีฟันครบ การสแกนแบบเต็มส่วนโค้งขากรรไกรไม่ว่าจะ
เริ่มสแกนจากฝั่งใดของขากรรไกรก็ไม่ส่งผลต่อความตรงของภาพสแกนบริเวณฟันหลังที่ระยะฟัน 4 ซี่