ข้อมูลบทความ
ปี 2019 ปีที่ 69 ฉบับที่ 4 หน้า 379-397
Title:
สารให้ความหวานแทนน้ำตาลกับผลต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพช่องปาก
Keyword(s):
โรคฟันผุ, สารให้ความหวานแทนน้ำตาล, สุขภาพช่องปาก, สุขภาพร่างกาย
Abstract:
ในปัจจุบัน สารให้ความหวานแทนน้ำตาลหลายชนิดได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ และถูกนำมาผสมในผลิตภัณฑ์อาหารและ
เครื่องดื่มหลากชนิดจำนวนมาก ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากความต้องการของผู้บริโภคที่พยายามลดผลเสียของการบริโภคน้ำตาลต่อสุขภาพ
ร่างกาย และสุขภาพช่องปาก โดยในแง่ของผลต่อสุขภาพร่างกาย ผู้บริโภคมักเข้าใจว่าการบริโภคสารเหล่านี้แทนการบริโภคน้ำตาล
จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญที่มีผลมาจากการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ
และหลอดเลือด ซึ่งมีอุบัติการณ์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก แต่หลักฐานในปัจจุบันจากงานวิจัยหลายการศึกษาทั้งในสัตว์ทดลอง และ
ในมนุษย์ซึ่งเป็นการศึกษาแบบสังเกตุการณ์ไปข้างหน้า รายงานว่าการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในระยะยาว อาจไม่ได้ลดความเสี่ยง
ในการเกิดผลเสียต่อสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคน้ำตาลได้อย่างสมบูรณ์ตามที่คาดหวัง มีการค้นพบกลไกหลากหลายที่สารให้ความหวาน
แทนน้ำตาลชนิดต่าง ๆ สามารถส่งผลต่อเมตาบอลิซึม และกระบวนการทางสรีระวิทยาของร่างกาย และส่งผลต่อกลุ่มจุลินทรีย์ในระบบ
ทางเดินอาหารซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการควบคุมการดูดซึมอาหาร เมตาบอลิซึม และการทำงานของอวัยวะในระบบอื่น ๆ ส่วนในแง่ของ
สุขภาพช่องปาก สารให้ความหวานแทนน้ำตาลมักถูกใช้ผสมในอาหารหรือเครื่องดื่มรสหวาน เพื่อช่วยลดการก่อโรคฟันผุของอาหารนั้น
เนื่องจากแบคทีเรียก่อโรคฟันผุไม่สามารถนำสารเหล่านี้ไปใช้ได้หรือใช้ได้ไม่ดี ทำให้ผลิตกรดได้น้อยลง และมีหลักฐานว่าสารให้ความหวาน
บางชนิดอาจสามารถนำไปใช้เป็นวิธีการเสริมอีกวิธีหนึ่งในการป้องกันการเกิดฟันผุได้อีกด้วย บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวน
วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลของการบริโภค สารให้ความหวานแทนน้ำตาลต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพช่องปาก รวมทั้งกลไกที่อาจ
อธิบายผลเหล่านั้น โดยเฉพาะในแง่ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อจุลินทรีย์ ข้อมูลเหล่านี้ ร่วมกับการติดตามผลการศึกษาจากงานวิจัยต่อไปในอนาคต
เป็นข้อมูลที่ควรคำนึงถึงในการแนะนำการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเหล่านี้แก่ผู้ป่วยและประชาชนต่อไป