ข้อมูลบทความ
ปี 2020 ปีที่ 70 ฉบับที่ 1 หน้า 26-35
Title:
ปัจจัยที่ส่งผลต่อความล้มเหลวในการบูรณะฟันกรามน้ำนมล่างคลาสทูด้วยวิธี SMART ในเด็กก่อนวัยเรียนตามโครงการทันตกรรมเชิงรุก เขตสาธารณสุข 12
Keyword(s):
กลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์, ฟันน้ำนม, ฟันผุ, วิธีการบูรณะฟัน, เออาร์ที
Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านซี่ฟันในฟันกรามน้ำนมล่างที่ผุด้านประชิดต่อความสำเร็จ
และความล้มเหลวของวัสดุบูรณะในการบูรณะฟันกรามน้ำนมล่างคลาสทูด้วยวิธี SMART ที่ระยะเวลา 6 เดือน และศึกษาลักษณะความ
ล้มเหลวของการบูรณะฟันคลาสทูด้วยวิธี SMART ในฟันกรามน้ำนมล่าง โดยผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมในการวิจัย
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีวิธีการศึกษาคือ คัดเลือกประชากรอายุ 3 ถึง 5 ปี จำนวน 100 คนที่มีฟันผุด้านประชิด
ตามเกณฑ์คัดเข้า 141 ซี่ โดยทันตแพทย์บันทึกข้อมูลลักษณะโพรงฟัน ปัจจัยต่าง ๆ และพิมพ์ฟันด้วยวัสดุพิมพ์ซิลิโคน ตามด้วยทันตาภิบาล
กำจัดเนื้อฟันผุด้วยช้อนขูดโพรงฟันผุและบูรณะด้วยวัสดุกลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ชนิดความหนืดสูงแบบแคปซูล (Fuji IX GP Extra capsule,
GC Corp., Japan) จึงนำข้อมูลปัจจัยต่าง ๆ มาวิเคราะห์และประเมินผลการบูรณะวัสดุที่ระยะเวลา 6 เดือน โดยใช้สถิติวิเคราะห์ถดถอย
โลจิสติกส์หลายตัวแปร ผลการศึกษาคือ อัตราความสำเร็จของคลาสทูเท่ากับร้อยละ 70.7 โดยพบว่าฟันกรามน้ำนมล่างซี่ที่ 1 ด้าน occlusodistal
การมีเหงือกอักเสบระหว่างฟันและการมีช่องว่างระหว่างซี่ฟันมีความสัมพันธ์ต่อความล้มเหลวของวัสดุบูรณะที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ทางสถิติ (p<0.05) โดยเมื่อพิจารณาลักษณะความล้มเหลวของวัสดุบูรณะส่วนใหญ่พบเป็นวัสดุบูรณะหลุดทั้งหมด บทสรุป การบูรณะฟัน
คลาสทูที่เป็นฟันกรามน้ำนมซี่ที่ 1 ด้าน occluso-distal โดยมีการอักเสบของเหงือกระหว่างฟัน และการมีช่องว่างระหว่างซี่ฟันสัมพันธ์
กับความล้มเหลวของการบูรณะฟันคลาสทูด้วยวิธี SMART ในการวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติกส์หลายตัวแปร