ข้อมูลบทความ
ปี 2020 ปีที่ 70 ฉบับที่ 1 หน้า 63-71
Title:
การเปรียบเทียบผลการต้านทานการละลายแร่ธาตุที่เนื้อฟันส่วนรากของวัสดุแคลเซียมซิลิเกตและกลาสส์ไอโอโนเมอร์ซีเมนต์
Keyword(s):
กลาสส์ไอโอโนเมอร์ซีเมนต์, การต้านทานการละลายแร่ธาตุ, ความแข็งผิวระดับจุลภาคแบบนูป, เนื้อฟันส่วนราก, วัสดุแคลเซียมซิลิเกต
Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการต้านทานการละลายแร่ธาตุของเนื้อฟันส่วนรากที่สัมผัสกับวัสดุ
กลุ่มแคลเซียมซิลิเกตและกลาสส์ไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ภายใต้สภาวะจำลองที่ส่งเสริมให้เกิดการละลายแร่ธาตุ ทดสอบโดยใช้เนื้อฟันส่วนราก
จากฟันกรามน้อยแท้ของมนุษย์จำนวน 60 ซี่ โดยแบ่งฟันแบบสุ่มออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 15 ซี่ กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มควบคุมลบที่ไม่ได้รับ
การบูรณะ กลุ่มที่ 2 บูรณะด้วยกลาสส์ไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ชนิดดั้งเดิม กลุ่มที่ 3 บูรณะด้วยเรซินมอร์ดิฟายด์กลาสส์ไอโอโนเมอร์ซีเมนต์
กลุ่มที่ 4 บูรณะด้วยแคลเซียมซิลิเกต เตรียมโพรงฟันขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 มิลลิเมตร ลึก 1 มิลลิเมตร และบูรณะด้วยวัสดุประจำกลุ่ม
ตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต วัดค่าความแข็งผิวระดับจุลภาคเริ่มต้นที่ระยะ 50 100 150 และ 200 ไมโครเมตรจากขอบรอยต่อของวัสดุ
จากนั้นนำชิ้นงานไปผ่านสภาวะจำลองที่ส่งเสริมให้เกิดการละลายแร่ธาตุ และวัดค่าความแข็งผิวระดับจุลภาคสุดท้ายอีกครั้ง สุ่มชิ้นงาน
2 ชิ้นจากแต่ละกลุ่มเพื่อศึกษาปริมาณแร่ธาตุที่เนื้อฟันจากบริเวณรอยต่อของวัสดุบูรณะ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติการวิเคราะห์ความ
แปรปรวนสองทางแบบวัดซ้ำ ตามด้วยการเปรียบเทียบเชิงพหุคูณชนิดบอนเฟอโรนีและสถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวตาม
ด้วยการเปรียบเทียบเชิงพหุคูณชนิดทูคีย์ กำหนดระดับนัยสำคัญที่ร้อยละ 95 ผลการศึกษาพบว่าเนื้อฟันส่วนรากที่บูรณะด้วยวัสดุกลุ่มที่
4 มีค่าเฉลี่ยการสูญเสียความแข็งผิวระดับจุลภาคน้อยกว่ากลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทุก ๆ ระยะที่ทดสอบ ขณะที่กลุ่มที่ 2 และ 3
มีค่าเฉลี่ยการสูญเสียความแข็งผิวระดับจุลภาคไม่แตกต่างกันในทุก ๆ ระยะที่ทดสอบ แต่แตกต่างจากกลุ่มที่ 1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติผลการศึกษาปริมาณแร่ธาตุพบว่าเนื้อฟันในกลุ่มที่ 4 มีแคลเซียม (ร้อยละโดยน้ำหนัก) และอัตราส่วนแคลเซียมต่อฟอสฟอรัสสูงที่สุดจากผล
การศึกษาจึงสรุปได้ว่าเนื้อฟันส่วนรากที่บูรณะด้วยวัสดุกลุ่มแคลเซียมซิลิเกต มีความสามารถในการต้านทานการละลายแร่ธาตุสูงกว่า
เนื้อฟันส่วนรากที่บูรณะด้วยกลาสส์ไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ และเรซินมอร์ดิฟายด์กลาสส์ไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ถึงระยะ 200 ไมโครเมตร
จากขอบรอยต่อของวัสดุบูรณะ