ข้อมูลบทความ
ปี 2020 ปีที่ 70 ฉบับที่ 3 หน้า 182-189
Title:
ผลของการปรับสภาพผิวของซี่ฟันเทียมอะคริลิกต่อค่าแรงยึดติดแบบเฉือนในการซ่อมแซมซี่ฟันเทียมด้วยเรซินคอมโพสิต
Keyword(s):
การปรับสภาพพื้นผิวซี่ฟันเทียม, ซี่ฟันเทียมอะคริลิก, เรซินคอมโพสิต, แรงยึดติดแบบเฉือน, สารยึดติด
Abstract:
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบค่าแรงยึดติดแบบเฉือนระหว่างซี่ฟันเทียมอะคริลิกและเรซินคอมโพสิตหลังการปรับสภาพผิวซี่ฟันเทียมด้วยวิธีที่แตกต่างกัน วัสดุอุปกรณ์และวิธีการ: การศึกษานี้ใช้ฟันเทียมอะคริลิกทั้งหมด 50 ซี่ แบ่งเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ซี่ โดยกลุ่มที่ 1 ปรับสภาพผิวซี่ฟันเทียมอะคริลิกด้วยสารเมทิลเมทาคริเลตทิ้งไว้เป็นเวลา 180 วินาที กลุ่มที่ 2 ปรับสภาพผิวซี่ฟันเทียมอะคริลิกด้วยสารเมทิลเมทาคริเลตทิ้งไว้เป็นเวลา 180 วินาที ตามด้วยสารคู่ควบไซเลน กลุ่มที่ 3 ปรับสภาพผิวซี่ฟันเทียมอะคริลิกด้วยกรดฟอสฟอริกความเข้มข้นร้อยละ 37 ตามด้วยสารเมทิลเมทาคริเลตทิ้งไว้เป็นเวลา 180 วินาที กลุ่มที่ 4 ปรับสภาพผิวซี่ฟันเทียมอะคริลิกด้วยกรดฟอสฟอริกความเข้มข้นร้อยละ 37 ตามด้วยสารเมทิลเมทาคริเลตทิ้งไว้เป็นเวลา 180 วินาที ตามด้วยสารคู่ควบไซเลน และกลุ่มที่ 5 ปรับสภาพผิวซี่ฟันเทียมอะคริลิกด้วยการเป่าทรายและกรดฟอสฟอริกความเข้มข้นร้อยละ 37 ตามด้วยสารเมทิลเมทาคริเลตทิ้งไว้เป็นเวลา 180 วินาที ตามด้วยสารคู่ควบไซเลน เมื่อผ่านกระบวนการปรับสภาพผิวซี่ฟันเทียมแล้วจึงทาสารยึดติด และอุดด้วยเรซินคอมโพสิตขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 มิลลิเมตร สูง 3 มิลลิเมตรโดยใช้แม่แบบ เก็บชิ้นตัวอย่างไว้ในตู้ควบคุมความชื้นและอุณหภูมิเป็นเวลา 24 ชั่วโมงก่อนนำมาทดสอบหาค่าแรงยึดติดแบบเฉือน โดยใช้เครื่องทดสอบแรงดึงแรงอัดมาตรฐานชิมัตซึ อีซีเอส นำค่าเฉลี่ยของแรงยึดติดแบบเฉือนมาเปรียบเทียบทางสถิติด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว กำหนดค่านัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 เปรียบเทียบพหุคูณด้วย Turkey’s HSD ทำการประเมินสภาพการแตกหัก และสุ่มชิ้นงานกลุ่มละ 3 ชิ้นนำมาศึกษาทางกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (Scanning electron microscope) ผลการศึกษา: ค่าเฉลี่ยแรงยึดติดแบบเฉือนของกลุ่มที่ 1 ถึง 5 มีค่าดังนี้ 6.123 + 0.828, 6.012 + 0.893, 6.336 + 0.843, 6.173 + 0.876 และ 20.901 + 0.851 เมกะปาสคาล ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบทางสถิติด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว พบว่า ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มที่ 1, 2, 3 และ 4 แต่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับกลุ่มที่ 5 (p<0.001) และเมื่อประเมินสภาพการแตกหัก การแตกหักเกิดขึ้นที่ระบบสารยึดติด เมื่อส่องกล้องจุลทรรศน์พบว่า พื้นผิวของกลุ่มที่ 5 มีความขรุขระมากกว่ากลุ่มอื่นอย่างชัดเจน สรุปผลการศึกษา: การปรับสภาพผิวซี่ฟันเทียมอะคริลิกด้วยการเป่าทรายและกรดฟอสฟอริกความเข้มข้นร้อยละ 37 ตามด้วยสารเมทิลเมทาคริเลตทิ้งไว้เป็นเวลา 180 วินาที ตามด้วยสารคู่ควบไซเลนและทาด้วยสารยึดติด ส่งผลให้ค่าแรงยึดติดแบบเฉือนระหว่างซี่ฟันเทียมอะคริลิกและเรซินคอมโพสิตมีค่าสูงกว่ากลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เพราะการเป่าทรายทำให้พื้นผิวของซี่ฟันเทียมมีความขรุขระมากขึ้นส่งผลให้เพิ่มพื้นที่ในการยึดติดที่มากขึ้น