ข้อมูลบทความ
ปี 2020 ปีที่ 70 ฉบับที่ 3 หน้า 190-197
Title:
ยาซิมวาสแตตินกับการลดการสูญเสียการยึดปริทันต์:การศึกษาแบบสังเกตการณ์
Keyword(s):
ยาซิมวาสแตตินชนิดรับประทาน, การลดการสูญเสียการยึดทางคลินิก, การลดการสูญเสียการยึดปริทันต์
Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของยาซิมวาสแตตินที่รับประทานกับการลดการสูญเสียการยึดปริทันต์ การศึกษานี้ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน ประจำคณะทันตแพทยศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาผู้ป่วย 41 คน อายุ 46-79 ปี เป็นเพศหญิง 31 คน รับประทานยาซิมวาสแตตินตามแพทย์สั่ง โดย 26 คน รับประทานยาขนาด 5 หรือ 10 มิลลิกรัมต่อวัน และ 15 คน รับประทาน 20 หรือ 40 มิลลิกรัมต่อวัน ทุกคนอยู่ในระยะคงสภาพปริทันต์ตั้งแต่ 6 ถึง 24 เดือน ซักประวัติ โรคประจำตัว การรับประทานยาและอาหารเสริม ปริมาณและระยะเวลาที่รับประทานยาซิมวาสแตติน ระดับไขมันในเลือด หาดัชนีอนามัยช่องปาก บันทึกและเปรียบเทียบการสูญเสียการยึดทางคลินิกแต่ละตำแหน่งที่บันทึกไว้ในการคงสภาพช่องปากครั้งล่าสุด เพื่อหาร้อยละของตำแหน่งที่มีการลดหรือการเพิ่มมากกว่าหรือเท่ากับ 2 มิลลิเมตร ใช้สถิติทดสอบที กลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มที่เป็นอิสระต่อกัน สหสัมพันธ์แบบสเปียร์แมน สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และการวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นแบบพหุ P-value < 0.05 เป็นนัยสำคัญทางสถิติ ผลการศึกษาพบว่าค่าเฉลี่ยของร้อยละของตำแหน่งที่มีการลดการสูญเสียการยึดทางคลินิกมากกว่าเท่ากับ 2 มิลลิเมตร ระหว่างกลุ่มรับประทานซิมวาสแตติน 5,10 กับ 20,40 มิลลิกรัมต่อวัน เท่ากับ 11.18±6.65 และ 10.38±6.91 ตามลำดับ ซึ่งไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ พบว่าอนามัยช่องปากเกี่ยวข้องกับผลการศึกษานี้ และสรุปได้ว่าขนาดยาซิมวาสแตตินที่รับประทาน ไม่มีความสัมพันธ์กับการลดการสูญเสียการยึดปริทันต์