ข้อมูลบทความ
ปี 2020 ปีที่ 70 ฉบับที่ 3 หน้า 230-242
Title:
การศึกษาความแข็งระดับจุลภาคชนิดตัดขวางบริเวณขอบแถบรัดฟันซึ่งยึดด้วยซีเมนต์
Keyword(s):
การสูญเสียแร่ธาตุที่ผิวเคลือบฟัน, ซีเมนต์ยึดแถบรัดจัดฟัน, ความแข็งระดับจุลภาคชนิดตัดขวาง
Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลของซีเมนต์ยึดแถบรัดฟันต่อการยับยั้งการสูญเสียแร่ธาตุที่ขอบของแถบรัดฟัน เป็นการศึกษาในห้องปฏิบัติการโดยใช้ฟันกรามน้อยแท้ซี่บนของมนุษย์จำนวน 60 ซี่ ทำการขัดผิวฟัน และทาน้ำยาทาเล็บที่ผิวฟัน ยกเว้นบริเวณช่องหน้าต่างทดลองขนาด 1 x 2 ตารางมิลลิเมตร บริเวณกึ่งกลางตัวฟันด้านไกลกลาง แบ่งฟันเป็น 6 กลุ่มเพื่อยึดด้วย (1) ซิงค์ฟอสเฟตซีเมนต์ (ZP) (2) ซิงค์โพลีคาร์บอกซิเลตซีเมนต์ (ZPC) (3) กลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ชนิดดั้งเดิม (GI) (4) เรซินมอดิฟายด์กลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ชนิดผงและน้ำ (RMGI-PL) (5) เรซินมอดิฟายด์กลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ชนิดสองหลอด (RMGI-PP) และ (6) โพลิแอซิดมอดิฟายด์คอมโพสิตเรซิน (PMCR) จากนั้นนำชิ้นตัวอย่างผ่านการจำลองภาวะอุณหภูมิร้อนเย็นในช่องปากนาน 24 ชั่วโมง และสภาวะการสูญเสียและคืนกลับแร่ธาตุเป็นเวลา 21 วัน ทำการรื้อแถบรัดฟันและกำจัดซีเมนต์ก่อนทำการตัดแบ่งฟันในแนวใกล้กลาง - ไกลกลาง เพื่อนำไปทดสอบความแข็งระดับจุลภาคชนิดตัดขวางของเคลือบฟัน ที่ระยะห่างจากขอบของแถบรัดฟัน 50, 400, 700 ไมครอน และบริเวณใต้ต่อแถบรัดฟัน ระยะละ 6 จุด ในระดับความลึก 10, 25, 40, 60, 80, และ 100 ไมครอนจากผิวเคลือบฟัน จากการพิจารณาภาพรวมของค่าความแข็งระดับจุลภาคชนิดตัดขวางที่ลดลงในชั้นเคลือบฟันของซีเมนต์แต่ละชนิด พบว่ากลุ่ม RMGI-PP < ZPC < GI < ZP = RMGI-PL < PMCR ตามลำดับ เมื่อทำการเปรียบเทียบร้อยละการเปลี่ยนแปลงค่าความแข็งระดับจุลภาคชนิดตัดขวางระหว่างชนิดซีเมนต์ พบว่าในระดับความลึก 10 ไมครอน RMGI-PP และ ZPC มีค่าร้อยละการเปลี่ยนแปลงค่าความแข็งระดับจุลภาคชนิดตัดขวาง น้อยกว่า RMGI-PL และ PMCR อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยที่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่ม RMGI-PP, ZPC, GI และ ZP ที่ระยะ 50 ไมครอนจากขอบแถบรัดฟัน จึงสรุปได้ว่า RMGI-PP เป็นซีเมนต์ชนิดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการยับยั้งการสูญเสียแร่ธาตุที่ชั้นเคลือบฟันบริเวณขอบแถบรัดฟัน แต่ RMGI-PP, ZPC, GI และ ZP ให้ผลยับยั้งการสูญเสียแร่ธาตุบริเวณใกล้เคียงพื้นผิวเคลือบฟันได้ไม่แตกต่างกัน