ข้อมูลบทความ
ปี 2003 ปีที่ 53 ฉบับที่ 1 หน้า 58-69
Title:
การประเมินผลรูปแบบใหม่ของการสอบแปรงฟันแก่นักเรียนประถมศึกษา
Author(s):
ณรงค์ สุขสุอรรถ
Keyword(s):
oral hygiene, plague, tooth brushing
Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลสภาวะอนามัยช่องปากก่อนและหลังการใช้รูปแบบใหม่ของการสอนแปรงฟันแก่นักเรียนประถมศึกษา โดยทำการศึกษาในนักเรียนประถมศึกษา อายุ 11-12 ปี จำนวน 176 คน ด้วยการเลือกโรงเรียนแบบเจาะจง และสุ่มเลือกนักเรียนกระจายเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลอง จำนวน 57 คน กลุ่มควบคุมโรงเรียนเดียวกัน จำนวน 58 คน และกลุ่มควบคุมต่างโรงเรียน จำนวน 61 คน โดยทั้ง 3 กลุ่ม ก่อนการทดลองได้สัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไป, ข้อมูลการแปรงฟันทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน และวัดสภาวะอนามัยช่องปาก โดยใช้ดัชนีแผ่นคราบจุลินทรีย์ของสตอลลาร์ด และคณะ ซึ่งทำการวัดใน 6 บริเวณ คือฟันกรามบนซี่แรกขวา และซ้ายด้านใกล้แก้ม ฟันกรามล่างซี่แรกซ้ายและขวาด้านใกล้ลิ้น และฟันหน้าบนและล่างด้านใกล้ริมฝีปาก จากนั้นในกลุ่มทดลอง ครู อนามัยจะได้รับความรู้และฝึกทักษะการแปรงฟันกับตนเอง และฝึกทักษะการถ่ายทอดความรู้สู่นักเรียน ในกลุ่มควบคุมทั้ง 2 กลุ่ม เด็กนักเรียนได้รับแปรงสีฟันและยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ แต่ไม่ได้รับคำแนะนำใดๆ หลังจากนั้น 1 เดือน ทำการวัดสภาวะอนามัยในช่องปาก ผลการวิจัยพบว่าสภาวะอนามัยในช่องปากก่อนการทดลองทั้ง 3 กลุ่ม ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโรงเรียนเดียวกันไม่ต่างกัน และทั้งสองกลุ่มต่างกับกลุ่มควบคุมต่างโรงเรียนอย่างมีนัยสำคัญในด้านต่างๆ ดังนี้ ฟันกรามบนซี่แรกขวาด้านใกล้แก้ม ฟันหน้ากลางบนขวา และฟันหน้ากลางล่างซ้ายด้านใกล้ริมฝีปาก หลังการวิจัยพบว่ากลุ่มทดลองมีสภาวะอนามัยช่องปากดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเกือบทุกบริเวณยกเว้นฟันกรามบนซี่แรกซ้ายด้านใกล้แก้ม กลุ่มควบคุมโรงเรียนเดียวกันมีสภาวะอนามัยช่องปากดีขึ้นในบางบริเวณ ได้แก่ ฟันกรามบนซี่แรกขวาด้านใกล้แก้ม ฟันหน้ากลางบนขวาและฟันหน้ากลางล่างซ้ายด้านใกล้ริมฝีปาก ส่วนในกลุ่มควบคุมต่างโรงเรียนมีสภาวะอนามัยช่องปากที่แย่ลงทุกบริเวณ และมีนัยสำคัญทางสถิติในบางบริเวณ ได้แก่ ฟันกรามล่างซี่แรกซ้ายและขวาด้านใกล้ลิ้น ฟันหน้าล่างด้านใกลริมฝีปาก ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากในกลุ่มควบคุมต่างโรงเรียนไม่มีสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมหรือกระตุ้นการแปรงฟัน เมื่อเปรียบเทียบทั้งสามกลุ่มพบว่า หลังการวิจัย สภาวะอนามัยช่องปากในกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบุมโรงเรียนเดียวกัน ดีกว่ากลุ่มควบคุมต่างโรงเรียนอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อเปรียบเทียบสภาวะอนามัยช่องปากในโรงเรียนเดียวกันพบว่ากลุ่มทดลองดีกว่ากลุ่มควบคุมโรงเรียนเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ ในบริเวณฟันหน้ากลางล่างซ้ายด้านใกล้ริมฝีปาก สรุปได้ว่ารูปแบบใหม่ในการสอบการแปรงฟันแก่นักเรียนประถมศึกษาทำให้นักเรียนมีค่าสภาวะอนามัยช่องปากดีขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการแปรงฟันก็ทำให้สภาวะอนามัยในช่องปากดีขึ้นเช่นกัน