ข้อมูลบทความ
ปี 2019 ปีที่ 69 ฉบับที่ 4 หน้า 483-491
Title:
ความสัมพันธ์ของดัชนีมวลกายกับจำนวนฟันปกติที่ใช้งานได้ของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2
Keyword(s):
จำนวนฟันปกติที่ใช้งานได้, ดัชนีมวลกาย, เบาหวานชนิดที่ 2
Abstract:
การศึกษานี้เป็นการเปรียบเทียบจำนวนฟันปกติที่ใช้งานได้ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีค่าดัชนีมวลกายที่แตกต่างกัน รวมทั้ง
หาความสัมพันธ์ปัจจัยทำนายจำนวนฟันปกติที่ใช้งานได้ศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวางจากข้อมูลผู้ป่วยเบาหวานทีขึ่้นทะเบียนของหน่วยบริการสุขภาพอำเภอเสลภูมิและทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด ที่มาตรวจสุขภาพที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ประจำปี พ.ศ. 2555 ทั้งหมด
30 แห่ง โดยรับการตรวจสุขภาพทั่วไป สุขภาพช่องปาก สัมภาษณ์พฤติกรรมและมีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่เกิน 3 เดือน ณ วันที่มา
รับบริการ คัดเข้าตามเกณฑ์ศึกษาได้จำนวน 352 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 176 คน ได้แก่กลุ่มปกติคือกลุ่มที่มีค่าดัชนีมวลกายปกติ
และกลุ่มอ้วนคือกลุ่มผู้ที่มีภาวะอ้วนถึงอ้วนมาก เปรียบเทียบข้อมูลทั่วไปและค่าทางคลินิกระหว่าง 2 กลุ่มโดยสถิติการทดสอบแมนน์-
วิทนีย์ยู เทสท์ หาความสัมพันธ์ของตัวแปรต่าง ๆ โดยใช้สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์สเปียร์แมนและสถิติการวิเคราะห์ความถดถอยเชิง
เส้นตรงพหุคูณ พบว่ากลุ่มอ้วนมีจำนวนฟันปกติที่ใช้งานได้น้อยกว่ากลุ่มปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ข้อมูลทั่วไปและค่าทาง
คลินิกเกือบทั้งหมด (ยกเว้นส่วนสูง) มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับจำนวนฟันปกติที่ใช้งานได้ โดยพบว่าอายุและดัชนีมวลกาย
มีผลต่อการทำนายจำนวนฟันปกติที่ใช้งานได้มากกว่าตัวแปรอื่น ๆ ในการศึกษานี้ ดังนั้นภาวะอ้วนในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจ
เสี่ยงต่อการสูญเสียฟันในช่องปากได้มากกว่าผู้ป่วยเบาหวานที่มีค่าดัชนีมวลกายปกติและอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในอนาคต