ข้อมูลบทความ
ปี 2020 ปีที่ 70 ฉบับที่ 4 หน้า 280-289
Title:
การคืนแร่ธาตุในรอยผุชั้นเนื้อฟันหลังทาซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ที่ผลิตในประเทศไทยและต่างประเทศ: การวิจัยในห้องปฏิบัติการ
Keyword(s):
การคืนแร่ธาตุ, ความลึกรอยผุ, ความหนาแน่นแร่ธาตุ, ซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์, รอยผุชั้นเนื้อฟัน
Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการคืนแร่ธาตุในรอยผุชั้นเนื้อฟันของฟันน้ำนมภายหลังการทาซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ (SDF) ที่ผลิตในประเทศไทยกับซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ที่ผลิตในต่างประเทศ ศึกษาในห้องปฏิบัติการโดยใช้ชิ้นฟันตัวอย่างจากฟันกรามน้ำนมที่มีรอยผุธรรมชาติชั้นเนื้อฟันจำนวน 30 ชิ้น วัดความหนาแน่นแร่ธาตุเริ่มต้นด้วยเครื่องถ่ายภาพรังสีคอมพิวเตอร์ระดับไมโครเมตร (micro-CT) คำนวณความลึกรอยผุและความหนาแน่นแร่ธาตุเฉลี่ยก่อนการทดลอง แบ่งชิ้นฟันเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ชิ้น กลุ่มที่ 1 ทา SDF ที่ผลิตในประเทศไทย กลุ่มที่ 2 ทา SDF ที่ผลิตในต่างประเทศ (Saforide®: Toyo Seiyaku Kesei, Japan) และกลุ่มที่ 3 ทาน้ำปราศจากไอออน (กลุ่มควบคุม) นำไปผ่านกระบวนการสลับกรด-ด่างโดยใช้เชื้อแบคทีเรียแล้วนำมาวัดความหนาแน่นแร่ธาตุด้วยเครื่อง micro-CT คำนวณความลึกรอยผุ ความหนาแน่นแร่ธาตุเฉลี่ย ร้อยละการเปลี่ยนแปลงความลึกรอยผุและร้อยละการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นแร่ธาตุหลังการทดลอง ชิ้นฟันตัวอย่างทั้ง 3 กลุ่มมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นแร่ธาตุเฉลี่ย 38.9 ± 18.1, 60.2 ± 30.6 และ 4.5 ± 7.6 ตามลำดับ ผลการทดลองพบว่ากลุ่มที่ทา SDF ที่ผลิตในประเทศไทยและ Saforide® มีร้อยละการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นแร่ธาตุเฉลี่ยไม่แตกต่างกันแต่แตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) และความลึกรอยผุหลังการทดลองทั้ง 3 กลุ่มไม่เปลี่ยนแปลง (p>0.05) สรุปได้ว่า SDF ที่ผลิตในประเทศไทยและ Saforide® มีประสิทธิภาพการคืนแร่ธาตุในรอยผุชั้นเนื้อฟันของฟันน้ำนมใกล้เคียงกัน