ข้อมูลบทความ
ปี 2020 ปีที่ 70 ฉบับที่ 4 หน้า 312-319
Title:
ดัชนีเมนทัลและดัชนีแพโนรามิกแมนดิบูลาร์ในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุของไทย: การศึกษาเบื้องต้นในช่วงเวลาหนึ่ง
Keyword(s):
ความหนาแน่นกระดูก, ดัชนีเมนทัล, ดัชนีแพโนรามิกแมนดิบูลาร์, ภาพรังสีแพโนรามา, ภาวะกระดูกพรุน
Abstract:
สภาวะกระดูกพรุนจัดเป็นปัญหาทางคลินิกที่พบได้ในผู้สูงวัย โดยมีการศึกษาที่ผ่านมาหลายฉบับนำค่าดัชนีที่ได้จากภาพรังสีที่ใช้ทางทันตกรรมมาเป็นตัวช่วยเสริมเพื่อประโยชน์ในการลดต้นทุนสำหรับการตรวจคัดกรองสภาวะกระดูกพรุนในผู้ป่วยทางคลินิก การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิงที่มีผลต่อค่าดัชนีเมนทัลและดัชนีแพโนรามิกแมนดิบูลาร์ ในกลุ่มผู้ป่วยโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยวัดค่าดัชนีเมนทัลและดัชนีแพโนรามิกแมนดิบูลาร์จากภาพรังสีแพโนรามาแบบดิจิตอลที่ถูกบันทึกไว้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556-2561 จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยสถิติทีเทสแบบอิสระและวิเคราะห์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สันไคสแควร์ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ผลการศึกษาพบว่ามีประชากรที่เข้าเกณฑ์คัดเข้าการศึกษา จำนวน 942 คน โดยเป็นเพศชาย 363 คน (อายุเฉลี่ย 60.36 ปี) และเพศหญิง 579 คน (อายุเฉลี่ย 60.15 ปี) โดยค่าดัชนีเมนทัลของเพศชายเท่ากับ 0.36 ซม. และเพศหญิงเท่ากับ 0.35 ซม. และค่าดัชนีเมนทัลไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างเพศชายและเพศหญิง (p=0.129) สำหรับค่าดัชนีแพโนรามิกแมนดิบูลาร์ในเพศชายมีค่าเท่ากับ 0.29 และเพศหญิงเท่ากับ 0.31 เมื่อนำไปทดสอบทางสถิติพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างเพศชายและเพศหญิง (p=0.00)  นอกจากนี้ยังพบว่าดัชนีเมนทัลและดัชนีแพโนรามิกแมนดิบูลาร์ว่ามีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน และอยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 61.5) จากผลที่ได้แสดงให้เห็นว่าปัจจัยเรื่องเพศส่งผลต่อเฉพาะดัชนีแพโนรามิกแมนดิบูลาร์ อย่างไรก็ตามข้อมูลครั้งนี้ยังไม่สามารถสรุปความสัมพันธ์ระหว่างการมีภาวะกระดูกพรุนกับค่าดัชนีทั้ง 2 ได้ แต่มีข้อน่าสังเกตถึงความแตกต่างของดัชนีแพโนรามิกแมนดิบูลาร์ระหว่างเพศชายและหญิง โดยหากนำค่าดัชนีนี้มาใช้ร่วมในการประเมินภาวะกระดูกพรุนเบื้องต้น หรือประยุกต์ใช้ภาพรังสีทางทันตกรรมให้เกิดประโยชน์ด้านอื่นนอกเหนือจากที่ทันตแพทย์ใช่ร่วมกับการรักษาผู้ป่วย ย่อมเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่ต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาภาวะกระดูกพรุนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพต่อไป